วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หมาท้องกางเป็นอะไรรึป่าว...

หมาท้องกางเป็นอะไรรึป่าว...


บ่อยครั้งที่ได้เห็นน้องหมาข้างถนน นอนร่างกายผ่ายผอมไร้เรี่ยวแรง แต่ท้องกลับโตมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากอาการ "ท้องมาน"

แต่ก็ใช่ว่าโรคท้องมาน จะพบแต่ในสุนัขจรจัด เสียเมื่อไหร่ สุนัขเลี้ยงตัวโปรดของใครหลายคนก็เคยป่วยด้วยโรคนี้กันมาแล้ว ดังนั้น วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับโรคท้องมาน กันค่ะ เผื่อวันใดที่โรคนี้มาเยือนน้องหมาของเราโดยมิได้รับเชิญ ก็จะได้สังเกตอาการ และรักษากันได้อย่างทันท่วงที

          อาการท้องมาน หรือ ascites คือการที่มีของเหลวสะสมอยู่ภายในช่องท้องอย่างผิดปกติ โดยของเหลวเหล่านี้อาจแพร่มาจากเส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง อวัยวะภายใน หรือก้อนเนื้องอกในช่องท้อง เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดท้องมานนั้นมีได้หลากหลายสาเหตุมาก ยกตัวอย่างเช่น
          1. ภาวะที่ร่างกายมีโปรตีนอัลบูมินต่ำ อัลบูมิน คือ โปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตับ ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่คอยอุ้มน้ำไว้ในเส้นเลือด เมื่อระดับของอัลบูมินลดต่ำลง จะทำให้น้ำในเส้นเลือดแพร่ออกมา และเข้าสู่ช่องท้อง หรือเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดท้องมาน และร่างกายบวมน้ำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับอัลบูมินต่ำ มักเกิดจากโรคตับ โรคทางเดินอาหาร โรคไต เป็นต้น
          2. โรคตับที่รุนแรง
          3. โรคหัวใจ
          4. เนื้องอกในช่องท้อง
          5. ช่องท้องอักเสบ
          6. มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
          7. โรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง
          8. เส้นเลือดอุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดจากตับ ที่ไหลกลับไปสู่หัวใจ
 อาการที่พบได้ในน้องหมาท้องมาน
           ท้องขยายใหญ่
           หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย
           มีไข้ ไอ
           อาเจียน ท้องเสีย
           เบื่ออาหาร
 การวินิจฉัย
          การวินิจฉัยต้องประกอบไปด้วยหลายอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดท้องมาน ได้แก่ การซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การเอ็กซเรย์ช่องท้อง และการเจาะน้ำในช่องท้องออกมาเพื่อทำการวิเคราะห์หรือเพาะเชื้อในกรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย 
          นอกจากนี้ อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การอัลตราซาวนด์ การตรวจวัดคลื่นหัวใจ และการส่องกล้องตรวจ (Endoscope)
 การรักษา
          ถ้าช่องท้องขยายใหญ่ เพราะมีน้ำในช่องท้องมาก จนทำให้สุนัขไม่สบายตัว หายใจลำบาก ก็จำเป็นจะต้องเจาะระบายน้ำในช่องท้องออก ร่วมกับการให้ยาขับน้ำ โดยที่ต้องไม่ระบายน้ำออกมาจนมาเกินไป เพราะอาจทำให้สุนัขช็อกได้
          ในรายที่หายใจลำบาก จะต้องให้ออกซิเจนร่วมด้วย และให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดให้เหมาะสมกับสภาพของสุนัขแต่ละตัว ให้ยาฆ่าเชื้อ และพิจารณาถ่ายเลือดในรายที่มีเลือดออกในช่องท้อง รวมทั้งพิจารณาผ่าตัดล้างท้องในรายที่มีการติดเชื้อของน้ำในช่องท้อง


ที่มา:forwordmail

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น